Custom Search

Search This Blog

Thursday, March 26, 2020

Pseudoephedrine (ซูโดเอฟีดรีน)


Pseudoephedrine (ซูโดเอฟีดรีน)

Pseudoephedrine (ซูโดเอฟีดรีน) เป็นยาในกลุ่มยาแก้คัดจมูก (Decongestant) ที่ออกฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดในจมูกหดตัว เพื่อลดและป้องกันการเกิดอาการคัดจมูก แน่นจมูก จมูกอุดตัน จากการที่หลอดเลือดขยายตัว มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูก เกิดการอุดตันในบริเวณไซนัส หรือในบริเวณท่อระบายของเหลวออกจากหูชั้นใน เช่น การป่วยไข้หวัด โรคภูมิแพ้ต่าง ๆ และสามารถใช้รักษาอาการป่วยอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ได้ด้วย

เกี่ยวกับยา Pseudoephedrine

กลุ่มยา           ยาแก้คัดจมูก
ประเภทยา         ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ            ลดและป้องกันอาการคัดจมูก แน่นจมูก จมูกอุดตัน
กลุ่มผู้ป่วย    เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา    ยารับประทาน

คำเตือนของการใช้ยา Pseudoephedrine

-ผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาทุกชนิดควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา

-ไม่ควรใช้ยาในผู้หญิงที่กำลังวางแผนการตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่กำลังให้นมบุตร เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หรือตัวยาอาจถูกส่งผ่านทางการให้นมไปสู่ทารกแรกเกิดได้ หากมีความจำเป็น การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น

-ห้ามใช้ยาในเด็กเล็ก หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี

-ห้ามใช้ยาในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต (Phaeochromocytoma) ซึ่งจะส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง

-ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับ หรือหลังการใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ Monoamine Oxidase (MAO Inhibitor) เช่น ฟูราโซลิโดน (Furazolidone) ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) ฟีเนลซีน (Phenelzine) ราซาจิลีน (Rasagiline) เซเลจิลีน (Selegiline)ทรานิลไซโปรมีน (Tranylcypromine) ภายใน 14 วัน เพราะตัวยาอาจทำปฏิกิริยาต่อกันจนเกิดอันตราย หรือผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ป่วยได้

-ห้ามใช้ยาหากเคยมีอาการแพ้ยาชนิดนี้ ยาในกลุ่มยาแก้คัดจมูกตัวอื่น ๆ ยาควบคุมน้ำหนัก หรือยารักษาอาการสมาธิสั้นใด ๆ

-ห้ามใช้ยานี้ในขณะที่กำลังใช้ยากระตุ้นใด ๆ เช่น ยาควบคุมน้ำหนัก ยารักษาอาการสมาธิสั้น

-ห้ามใช้ยาติดต่อกันนานเกินกว่า 7 วัน


ปริมาณการใช้ยา Pseudoephedrine

เด็ก

-อายุ 4-5 ปี รับประทานครั้งละ 15 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุด ไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/วัน

-อายุ 6-12 ปี รับประทานครั้งละ 30 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุด ไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน

-อายุ 12 ปี ขึ้นไป รับประทานครั้งละ 30-60 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือรับประทานยาชนิด 120 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง หรือ รับประทานยาชนิด 240 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุด ไม่เกิน 240 มิลลิกรัม/วัน

ผู้ใหญ่

-รับประทานครั้งละ 30-60 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมงหรือรับประทานยาชนิด 120 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง หรือรับประทานยาชนิด 240 มิลลิกรัม ทุก 24 ชั่วโมง ปริมาณสูงสุด ไม่เกิน 240 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยา Pseudoephedrine

ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากเคยมีประวัติแพ้ยา กำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพที่สำคัญ เช่น โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือกำลังวางแผนมีบุตร ตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพื่อที่แพทย์จะพิจารณาจ่ายยาและวางแผนรักษาตามความเหมาะสม

แพทย์จะสั่งจ่ายยาโดยพิจารณาตามอาการหรือชนิดของโรคเป็นหลัก รวมไปถึงการพิจารณาถึงอายุ ประวัติการแพ้ยา และการตอบสนองของผู้ป่วย ผู้ป่วยควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ซื้อยาตามร้านขายยา ผู้ป่วยต้องศึกษาวิธีการใช้และคำเตือนบนฉลากยาให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ

หากลืมรับประทานยา ควรรีบรับประทานทันทีเมื่อทราบ แต่หากใกล้เวลารับประทานยาในรอบถัดไป ให้ผู้ป่วยข้ามไปรับประทานยาของรอบถัดไปแทน และไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

การรับประทานยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนด หรือใช้ติดต่อเป็นเวลานานนอกเหนือคำสั่งแพทย์ อาจส่งผลให้เกิดอาการดื้อยา โดยผู้ป่วยต้องไม่ใช้ยาติดต่อกันนานเกินกว่า 7 วัน หากอาการป่วยนั้นไม่ดีขึ้นภายหลังใช้ยาไปแล้ว 7 วัน ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

นอกจากนั้น หากผู้ป่วยต้องทำการผ่าตัดใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการผ่าตัดว่ากำลังใช้ยาตัวนี้อยู่ ทั้งนี้ ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ให้ห่างจากความร้อนและความชื้นด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Pseudoephedrine

การใช้ยา Pseudoephedrine อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในผู้ป่วยบางราย โดยบางอาการก็เป็นผลข้างเคียงที่ไม่เป็นอันตราย แต่อาจสร้างความไม่สบายใจ และควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขรักษาต่อไป เช่น อาการนอนไม่หลับ หรือไม่อยากอาหาร

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นและเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตราย ได้แก่

อาการแพ้ยา หากพบอาการสำคัญบ่งชี้ถึงการแพ้ ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการทันที เช่น

-มีผดผื่นขึ้นตามผิวหนัง
-หายใจไม่ออก หายใจติดขัด หายใจลำบาก
-หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม กลืนอาหารไม่ได้

อาการอื่น ๆ จากการใช้ยา ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาในทันทีเช่นกัน เมื่อพบอาการเหล่านี้

-หัวใจเต้นเร็ว แรง หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ

-เวียนหัวอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน

-เกิดความวิตกกังวล ไม่สบายใจ อยู่ไม่สุข หงุดหงิด กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มึนงง

-มีรอยฟกช้ำ หรือมีแผลเลือดออกได้ง่าย

-มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

-มีอาการสำคัญที่เป็นสัญญาณอันตรายของภาวะความดันโลหิตสูง เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง สายตาพร่ามัว มีเสียงดังรบกวนในหู สับสนมึนงง ปวดหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรือมีอาการชัก