Custom Search
Search This Blog
Saturday, February 8, 2020
การวินิจฉัยหาสาเหตุไอเรื้อรัง
การวินิจฉัยหาสาเหตุไอเรื้อรัง
นอกจากอาการเหนื่อยง่าย และเจ็บหน้าอกแล้ว อาการไอก็เป็นอาการแสดงอีกอย่างหนึ่งที่แสดงว่า ผู้ป่วยป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ อาการไอเป็นอาการของโรคที่พบบ่อยที่สุด อาการไอเป็นกลไกของร่างกายที่พยายามขับสิ่งแปลกปลอม ที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจรวมทั้งเชื้อโรค เช่น วัณโรคให้ออกไปจากร่างกาย ในขณะที่การไอจะเป็นลดปริมาณเชื้อโรคในร่างกายของคนผู้ป่วย แต่ก็เป็นการแพร่การติดเชื้อต่อไปให้ผู้อื่นด้วยเช่นกัน
ระบบหายใจของมนุษย์มีหน้าที่อยู่ 2 อย่าง คือ นำออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงร่างกายเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ได้ และขับถ่ายของเสียคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเป็นผลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง (น้ำตาล ฯลฯ) เพื่อใช้เป็นพลังงานออกไป ถ้าปอดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เราจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะร่างกายจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และมีภาวะกรดเกินจากการคั่งของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด โดยทั่วไปเราแบ่งระบบทางเดินหายใจ ออกเป็น 2 ส่วน คือ ทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract) คือ ส่วนตั้งแต่กล่องเสียง (Larynx) ขึ้นไป ประกอบด้วย จมูก ลำคอ กล่องเสียง และทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower Respiratory Tract) คือ ส่วนที่อยู่ใต้กล่องเสียง (Larynx) ลงมา ประกอบด้วยหลอดลมตั้งแต่หลอดลมใหญ่ (Trachea) ลงไปจนถึงถุงลม
การไอ-กลไกอย่างหนึ่งของการป้องกันระบบหายใจไม่ให้ได้รับอันตราย
เราหายใจเอาอากาศเข้าออกผ่านปอดวันละมากๆ (ประมาณ 8,000-12,000 ลิตรต่อวันขึ้นกับปริมาณการทำงานและการออกกำลัง) ขณะที่ในอากาศมีของเสียที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจปะปนอยู่ ยิ่งอยู่ในเมืองยิ่งมีมาก
จากการสูบบุหรี่ มลภาวะเป็นพิษอาจเป็นในรูปฝุ่นละออง ก๊าซเคมี และเชื้อโรค เชื้อรา เชื้อไวรัสต่างๆ ร่างกายจึงมีวิธีกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป เพื่อลดอันตรายของทางเดินหายใจลง ผงฝุ่นละอองขนาดโตเมื่อหายใจเข้าไป (โตเกินกว่า 10 ไมครอน) ส่วนใหญ่จะติดอยู่ในส่วนโพรงจมูกและหลอดลมส่วนบน คงมีฝุ่นที่มีขนาดเล็กเท่านั้นที่จะผ่านลงไปในหลอดลมส่วนล่างได้ ดังนั้นผงฝุ่นละอองขนาดเล็ก จะมีอันตรายกว่าผงฝุ่นละอองขนาดใหญ่
เซลล์ที่เยื่อบุหลอดลมจะมีขนบุ ซึ่งขนจะมีการโบกอยู่ตลอดเวลา บนปลายขนจะมีเมือกคลุมอยู่เป็นแผ่นที่เรียกว่า Mucous Sheet หรือ Mucociliary Blanket ขนจะโบกไล่ให้เมือกเคลื่อนตัวไปสู่ลำคอส่วนต้น ซึ่งเราอาจจะกลืนลงไปในกระเพาะหรือไอออกมา สิ่งแปลกปลอมที่หลุดเข้าไปในหลอดลมจะถูกจับติดกับเมือกที่บุหลอดลม เมื่อพวกสารเคมีที่มีอันตรายเข้าไปสัมผัสก็ถูกผสม ทำให้เจือจางลงเกิดอันตรายน้อยลง ก๊าซก็เช่นเดียวกัน เชื้อต่างๆ ที่หายใจเข้าไปจะถูกทำลายโดยภูมิต้านทานต่อเชื้อนั้นที่มีอยู่ในน้ำเมือกและโดยเม็ดเลือดขาว และผลจะถูกขับถ่ายออกมาเป็นรูปของเสมหะ ปกติการหลั่งสารเมือกนี้มีปริมาณน้อยมาก ราวๆ วันละ 10-100 ลบ.ซม. ซึ่งทำให้เราไม่รู้สึกว่ามีเสมหะเพราะมันมักถูกกลืนลงไปกับน้ำลาย การไออาจแบ่งตามระยะเวลาที่เป็น ถ้าไอไม่ถึง 1 สัปดาห์เรียกว่า การไออย่างปัจจุบัน แต่ถ้าไอติดต่อกันนานเกิน 3 สัปดาห์เรียกว่า ไอเรื้อรัง นอกนั้นการไออาจแบ่งได้เป็น ไอแห้งๆ คือ
ไม่มีเสมหะ
ไอมีเสมหะออกมา
ไอเป็นเลือด ซึ่งต้องดูว่า เป็นเลือดอย่างเดียวไม่มีเสมหะปน หรือมีเสมหะปนอยู่ด้วย
สาเหตุของการไอมีอยู่มากมาย โรคของระบบทางเดินหายใจและปอดแทบทุกโรคทำให้เกิดอาการไอได้ทั้งสิ้น นอกนั้นก็อาจเกิดจากโรคของระบบอื่น เช่น โรคจมูก โรคกระเพาะ โรคหัวใจ ยาหลายอย่างทำให้เกิดการไอได้ การไออย่างปัจจุบันพบบ่อยมักเป็นจากการอักเสบของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น หลอดลมอักเสบ และส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ในเด็กมักเป็นจากการอักเสบในลำคอ หรือต่อมทอลซิลอักเสบ ในคนสูงอายุโดยเฉพาะมีโรคทางสมองอาจเป็นหลอดลมอักเสบ เนื่องจากการสำลักอาหารหรือน้ำลาย
สาเหตุของการไอเรื้อรัง
ถ้าไม่นับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ซึ่งมักจะมีอาการไอเรื้อรัง เนื่องจากมีหลอดลมอักเสบเรื้อรังแล้ว ผู้ป่วยที่มีอาการไอที่พบบ่อยที่สุดคือ อาการไอเรื้อรังหลังเป็นไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยพวกนี้อาจมีอาการไอเรื้อรังได้ โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับพักผ่อนอย่างเพียงพอ และมีการใช้เสียงมากในระยะเริ่มแรกของโรค ทำให้มีอาการหลอดลมอักเสบตามมา นอกนั้นแล้วเรายังพบว่า หลังการติดเชื้อไวรัสอาจทำให้หลอดลมมีความไวต่อการถูกกระตุ้น (Bronchial Hyperresponsiveness หรือ BHR) แล้วจะมีการไอเกิดขึ้น ซึ่งอาจกินเวลายาวนานถึง 3-4 สัปดาห์ได้โดยเฉพาะถ้าพักผ่อนไม่พอหรือใช้เสียงมากอยู่ โรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการไอบ่อยอื่นๆ ได้แก่ การอักเสบเรื้อรังในปอด เช่น วัณโรค หลอดลมอักเสบเป็นหนองเรื้อรัง (Bronchiectasis) ฝีในปอด และมะเร็งในปอด เป็นต้น แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีเอ็กซ์เรย์ปอดผิดปกติ
สำหรับโรคที่ทำให้เกิดการไอเรื้อรังและมีเอกซ์เรย์ปอดปกติ ที่พบบ่อยได้แก่
โรคหอบหืด (Bronchial Asthma) ผู้ป่วยโรคหอบหืดโดยทั่วไปจะมีอาการไอ เหนื่อยง่ายและหายใจมีเสียงวี๊ด แต่ก็มีผู้ป่วยอีกจำนวนมากมีโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนแรง บางรายไม่เคยมีอาการหืดจับหรือเหนื่อยง่ายเลย มีเพียงไอเรื้อรังเท่านั้น (พบว่าประมาณ 25% ของผู้ป่วยโรคหอบหืดไม่เคยมีอาการหืดจับ) แต่ถ้าตรวจสมรรถภาพปอดจะพบว่า หลอดลมมีความไวต่อสิ่งเร้า (Bronchial Hyperresponsiveness หรือ BHR) นอกนั้นผู้ป่วยพวกนี้ที่มีอาการหลอดลมอักเสบเรื้อรัง การตรวจเสมหะจะพบเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophils แทนที่จะเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophils อย่างที่เห็นในหลอดลมอักเสบทั่วไป Eosinophilic Bronchitis นี้ถือเป็น Cough-Variant Asthma คือ เป็นโรคหอบหืดที่มีหลอดลมตีบแบบไม่รุนแรง จึงไม่มีอาการหอบหืด
ผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคแพ้อากาศและมีจมูกอักเสบเรื้อรัง (Allergic Rhinitis) ผู้ป่วยพวกนี้จะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล และมีน้ำมูกไหลลงในคอเวลานอน (Postnasal Drip) ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง ผู้ป่วยอาจมีไซนัสอักเสบ (Paranasal Sinusitis) ร่วมด้วย โดยที่สาเหตุของโรคเป็นภูมิแพ้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงพบโรคนี้ร่วมกับโรคหอบหืดในผู้ป่วยคนเดียวกันได้บ่อย
ผู้ป่วยที่มีกรดในกระเพาะและกรดไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหารที่เรียกว่า Gastro-Esophageal Reflux Disease หรือ GERD ผู้ป่วยพวกนี้อาจมีไอเรื้อรังได้ รูปที่ 16 เป็นรูปวาดของระบบทางเดินอาหารส่วนบน อาหารผ่านปาก ลำคอ หลอดอาหารส่วนต้น (Esophagus) แล้วลงไปในกระเพาะอาหาร (Stomach) ตรงรอยต่อระหว่างหลอดอาหารส่วนต้นกับกระเพาะอาหารจะมีหูรูดปิดที่เรียกว่า Gastroesophageal Sphincter หรือ Lower Esophageal Sphincter ซึ่งจะกันไม่ให้อาหารและกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับขึ้นไปได้
- ผู้ป่วยที่ทานยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคความดันสูงและโรคหัวใจ เช่น ยาพวก ACE Inhibitor อาจทำให้ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้มีอาการไอเรื้อรังได้ พบได้ราว 2-14% ของผู้ใช้ อาการเกิดในราว 3-4 สัปดาห์หลังใช้ยา อาการไอมักเป็นแบบไอไม่มีเสมหะเป็นมากในตอนกลางคืนและเวลานอนราบ อาการจะหายไปเมื่อหยุดยา ยาพวก Beta-Adrenergic Blocking Agent อาจทำให้เกิดการไอในผู้ป่วยที่มีหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคหอบหืดโดยช่วยทำให้หลอดลมตีบลง
- ผู้ป่วยที่ใช้เสียงมากๆ เช่น ตะโกนมากและพักน้อย เช่น พวกพ่อค้าแม่ค้า หากหยุดพักไม่ใช้เสียง 2-3 วัน อาการจะดีขึ้น
- มีคนเป็นจำนวนมากที่ไอหรือกระแอมโดยที่ไม่มีโรค เรียก Psychogenic หรือ Habit Cough การวินิจฉัยมักไม่พบว่ามีสาเหตุของการไออื่น สันนิฐานว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากจิตใจ
ผลเสียของการไอ
การไอมีผลต่อสุขภาพมากมาย เช่น
ทางปอด
อาจมีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ มีการอักเสบของหลอดลมมากขึ้น บวมมากขึ้น มีการฉีกขาดเกิดขึ้น
ปอดแตกและมีลมรั่วเข้าไปในช่องเยื่อบุหุ้มปอด (Pneumothorax) อันเป็นผลจาก Barotrauma ที่เกิดกับปอดขณะไอ
ทางสมอง
มีอาการหมดสติ (Cough Syncope)
ทรวงอก
เจ็บกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกซี่โครงหัก
การแทรกซ้อนอื่นๆ
ปัสสาวะราด (Urine Incontinence)
เสียงแหบ
ไส้เลื่อน
ปวดหลัง
พักผ่อนไม่เพียงพอในผู้ที่มีอาการไอมากช่วงกลางคืน
การวินิจฉัยโรคไอเรื้อรัง
ส่วนใหญ่การซักประวัติ การตรวจร่างกาย การตรวจทางรังสีทรวงอกพอจะบอกสาเหตุได้ว่า อาการไอเกิดจากอะไร แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่มีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ซึ่งสามารถช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้ถูกต้องถึง 90% แม้ว่าสาเหตุของการไอส่วนใหญ่จะเกิดจากโรคของปอดและระบบทางเดินหายใจก็ตาม แต่บางครั้งก็พบว่าอาจเกิดจากโรคของระบบหัวใจ โรคของระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วประมาณ 20-60% ของผู้ป่วยอาการไอมิได้เกิดจากสาเหตุเดียว แต่เกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นแพทย์ผู้ตรวจนอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคแล้ว แพทย์ควรรู้เรื่องอายุรกรรมทั่วไปอย่างดี หรือมีการร่วมการรักษาเป็นทีมของกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ในกรณีที่สงสัยว่ามีโรคปอดอยู่แพทย์อาจขอตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ของทรวงอก
ในกรณีที่สงสัยโรคเกิดจากการอักเสบของจมูกและหลอดลมส่วนต้น อาจต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางหู คอ จมูก ร่วมตรวจรักษาด้วย โดยอาจมีการเอกซ์เรย์ไซนัส (โพรงกระดูกที่อยู่รอบโพรงจมูก) เพื่อหาสาเหตุ
ในกรณีที่สงสัยโรคหอบหืด แพทย์อาจขอตรวจดูสมรรถภาพของปอด (Pulmonary Function Test) เพื่อดูว่ามีหลอดลมตีบหรือไม่ ถ้าพบว่าตีบก็ให้พ่นยาขยายหลอดลม ถ้าหลอดลมสนองต่อยาก็จะช่วยเพิ่มน้ำหนักในการวินิจฉัยโรค บ่อยครั้งที่พบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดในขณะที่อาการโรคยังไม่จับ (ไม่มีอาการ) อาจไม่มีหลอดลมตีบได้ ผลการตรวจสมรรถภาพปอดเบื้องต้น อาจจะปกติทำให้บอกไม่ได้ว่าผู้ป่วยมีโรคหอบหืด ควรมีการทดสอบว่าหลอดลมไวต่อการเร้าผิดปกติหรือไม่ โดยการตรวจที่เรียกว่า Bronchial Challenge Test โดยใช้สารกระตุ้นให้หลอดลมเกิดการหดตัว การตรวจนี้เครื่องมือที่ใช้ ควรเป็นเครื่องมือที่ให้ผลตรวจที่มีความแม่นยำสูง เรียกว่า Body Pletysmograph (รูปที่ 19) ซึ่งนอกจากมีความแม่นยำสูงแล้วยังใช้ตรวจสมรรถภาพปอดอื่นๆ เช่น หาปริมาตรปอด และหาการแลกเปลี่ยนอากาศในถุงลมได้ ซึ่งเครื่องตรวจสมรรถภาพปอดอย่างธรรมดา (Spirometer) ที่ใช้กันในโรงพยาบาลทั่วไปไม่สามารถทำได้
ในกรณีที่สงสัยว่ามีกรดในกระเพาะไหลย้อนกลับนั้น แพทย์อาจต้องให้ผู้ป่วยมีการตรวจทางระบบทางเดินอาหาร ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การตรวจเป็นขั้นตอนตามที่กล่าวมาสามารถให้การวินิจฉัยและรักษาโรคได้สูงถึง 90-95% โดยที่โรคหลายชนิดถ้ายิ่งทิ้งไว้นานจะยิ่งรักษาให้หายยาก หรือไม่หายเลย ผู้ป่วยที่มีอาการไอเรื้อรังจึงไม่ควรรอการตรวจนานเกินไป
Labels:
การวินิจฉัยหาสาเหตุไอเรื้อรัง