Custom Search

Search This Blog

Saturday, June 15, 2019

โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ



โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุนั้นนับว่าเป็นโรคยอดฮิตที่นำพาผู้สูงวัยมาพบแพทย์อยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งผู้สูงอายุมักบรรยายอาการของตนเองว่า ตนมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน รู้สึกมึนๆ เหมือนจะหน้ามืด เป็นลม  อยากอาเจียน พะอืดพะอม รู้สึกว่าการทรงตัวไม่มั่นคงเหมือนจะล้ม เป็นต้น ส่วนใหญ่จะบรรยายอาการของตนเองแบบผสมกันหลายแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความซับซ้อนในการวินิจฉัยเป็นอย่างมาก

โดยปกติแล้วอาการเวียนศีรษะนั้นมักจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

1. อาการเวียนศีรษะแบบฉับพลัน (Acute dizziness) ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นในเวลาน้อยกว่า 1-2 เดือน
2. อาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรัง (Chronic dizziness) ซึ่งอาการมักจะเกิดขึ้นในเวลามากกว่า 1-2 เดือน

โดยแท้จริงแล้วอาการเวียนศีรษะนั้นเกิดได้ในทุกกลุ่มอายุ ทั้งคนอายุน้อยไปจนถึงคนชรา เพียงแต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ หากอาการเหล่านี้เกิดในผู้สูงวัยการฟื้นตัวจะค่อนข้างช้ากว่าคนหนุ่มสาว เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของความเสื่อมทางสรีรวิทยา และ การมีโรคประจำตัวหลายชนิด ในบทความฉบับนี้จะกล่าวถึง อาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรังเป็นหลัก

อาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรังในผู้สูงอายุนั้น มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหรือสภาวะผิดปกติทางร่างกายต่างๆตามมามากมาย  เช่น เพิ่มโอกาสการหกล้ม การทำกิจวัตรประจำวันถูกจำกัดลงกว่าเดิม สัมพันธ์กับภาวะความดันโลหิตตกในท่ายืน  โรคหลอดเลือดในสมองตีบ เป็นต้น หากอาการเวียนศีรษะแบบเรื้อรังเป็นอยู่นานโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้สูงวัยเกิดอาการ “กลัวที่จะล้ม” เกิดภาวะซึมเศร้า และเริ่มประเมินตัวเองถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น ต่อมาจะเริ่มไม่อยากเข้าทำกิจกรรมกับคนอื่นๆในสังคม ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ

เพื่อไม่ให้เกิดสภาวะดังกล่าวข้างต้น อันดับแรกเราต้องเข้าใจเรื่องของสรีรวิทยาตามปกติของผู้สูงอายุเสียก่อน ปกติแล้วอวัยวะที่ควบคุมการทรงตัวและการรับรู้ของสมดุลในร่างกายนั้นต้องอาศัยทั้ง ตา หู ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรง แต่ในผู้สูงอายุนั้นระบบประสาทรับรู้ทั้งที่หู ตา กล้ามเนื้อและข้อ จะเสื่อมลง ส่งผลให้เกิดอาการทรงตัวลำบาก รู้สึกวิงเวียนได้ง่าย

แล้วอะไรเป็นสาเหตุของอาการดังกล่าว ?

สาเหตุของโรควิงเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ แบ่งได้ง่ายๆ เป็น 9 อย่าง ดังต่อไปนี้

1. โรคทางระบบหู เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด ก้อนเนื้องอกในหู เส้นประสาทในหูอีกเสบ พิษต่อระบบประสาทหูจากการใช้ยาบางชนิด เป็นต้น

2. โรคทางระบบประสาท และ สมอง เช่น โรคเส้นเลือดในสมองตีบทั้งแบบชั่วคราวและถาวร โรคพาร์กินสัน โรคไมเกรนบางแบบ

3. ปัญหาของอวัยวะบริเวณลำคอของผู้สูงอายุ เช่น โรคกระดูกต้นคอเสื่อม โรคเส้นเลือดที่คอตีบหรือ การมีคราบไขมันเกาะบริเวณหลอดเลือดที่คอที่ทำให้เวลาหันศีรษะเร็วๆจะทำให้เกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองชั่วคราวจนเกิดอาการเวียนศีรษะขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยมากในผู้สูงอายุ

4. โรคความดันโลหิตตกในท่ายืน ปัจจุบันในผู้สูงอายุยังไม่มีการศึกษาวิจัยถึงหลักเกณฑ์การวินิจฉัยที่แน่นอน ดังนั้นในประเทศไทยยังคงใช้หลักการวินิจฉัยเดียวกับกลุ่มอายุอื่น ที่น่าสนใจคือมีรายงานในต่างประเทศว่าในผู้สูงอายุที่มีความดันโลหิตตกในท่ายืน ก็ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีอาการเวียนศีรษะ แสดงว่าอาจมีสาเหตุร่วมอย่างอื่นที่อธิบายการเกิดอาการเวียนศีรษะในผู้สูงวัยที่ไม่ใช่การมีความดันโลหิตตกในท่ายืนก็เป็นได้

5. โรคความดันโลหิตตกหลังอาการรับประทานอาหาร หมายถึง การมีความดันโลหิตตก มากกว่าหรือเท่ากับ 20 mmHg ในท่านั่งหรือยืนภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร

6. โรคทางจิตเวช เช่น โรคเครียด โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคแพนิก หรือ โรคย้ำคิดย้ำทำ ในผู้สูงอายุนั้น โรคทางจิตเวชที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้บ่อยที่สุดนั้นก็คือ โรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้าสามารถเป็นได้ทั้งสาเหตุและผลลัพธ์ของอาการวิงเวียนได้ทั้งคู่

7. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาประเภทต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะได้โดยผ่านกลไกที่แตกต่างกัน เช่น ยาลดความดัน ยาขับปัสสาวะ ยากันชัก ยาปรับอัตราการเต้นของหัวใจ ยาแก้แพ้ ยาฆ่าเชื้อ ยานอนหลับ และยาทางจิตเวช เป็นต้น

8. โรคทางตา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม

9. โรคอื่นๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ โรคซีด โรคเกลือแร่ และไขมันผิดปกติ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น

โดยสรุปแล้วแม้มีการจำแนกสาเหตุของการเกิดอาการวิงเวียนไว้อย่างชัดเจนดังกล่าวข้างต้น แต่พึงระลึกไว้เสมอว่าในผู้สูงอายุนั้นสาเหตุของอาการวิงเวียนมักไม่ได้เกิดลำพังจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากหลายสาเหตุผสมผสานกัน ดังนั้น หากตัวท่านมีอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด พร้อมนำยาที่รับประทานเป็นประจำมาให้แพทย์ดูด้วย จึงจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีที่สุด