Custom Search

Search This Blog

Friday, March 1, 2013

วุ้นตาเสื่อม (Vitreous Degeneration)


อ.พญ.โสมนัส  ถุงสุวรรณ
ภาควิชาจักษุวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
วุ้นตา (vitreous) เป็นส่วนประกอบของลูกตามีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายไข่ขาวอยู่หน้าต่อจอตาและยึดติดกับผิวของจอตา เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนวุ้นตาจะเสื่อมตัวมีลักษณะเหลวเป็นน้ำ หดตัวและลอกตัวจากจอตาเกิดเป็นตะกอนขุ่น
อาการ
            ผู้ป่วยจะมองเห็นเป็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา  โดยเฉพาะเวลากลอกตาหรือมองที่ผนังสีขาวหรือท้องฟ้า ตะกอนเหล่านี้จะคงอยู่ในวุ้นตาโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ   ในระยะแรกผู้ป่วยจะสังเกตเห็นตะกอนเหล่านี้ได้ง่ายแต่เมื่อเวลาผ่านไปสมองจะเกิดการเรียนรู้และละเลยภาพเหล่านั้นไปเอง  ทำให้ผู้ป่วยมองเห็นตะกอนเหล่านี้ลดลง   นอกจากนี้เมื่อวุ้นตาเหลวและหดตัวจะส่งผลให้เกิดแรงดึงรั้งที่ผิวของจอตา  ทำให้เกิดการกระตุ้นเห็นเป็นแสงคล้ายแสงแฟลชจากกล้องถ่ายรูปหรือแสงฟ้าแลบในตา  ผู้ป่วยมักสังเกตเห็นแสงแฟลชได้ชัดเจนขึ้นเมื่ออยู่ในที่มืดหรือในเวลากลางคืน  อาการนี้จะลดลงและหายไปเมื่อวุ้นตาร่อนตัวออกจากจอตาอย่างสมบูรณ์  แต่ในบางรายแรงดึงรั้งที่เกิดขึ้นอาจทำให้จอตาฉีกขาดซึ่งหากทิ้งไว้จะทำให้เกิดภาวะจอตาหลุดลอก  ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้   นอกจากนั้นการมองเห็นจุดสีดำลอยไปมาอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้แก่ ภาวะเลือดออกในวุ้นตา ม่านตาอักเสบ เป็นต้น
ทราบได้อย่างไรว่าวุ้นตาเสื่อม
            ผู้ป่วยที่มีอาการมองเห็นจุดดำลอยไปมาหรือเห็นแสงแฟลชในตาควรได้รับการตรวจตา  โดยจักษุแพทย์จะหยอดยาขยายรูม่านตาเพื่อตรวจจอตาและวุ้นตาอย่างละเอียด ภายหลังการขยายม่านตาผู้ป่วยจะมีอาการตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ การมองเห็นจะกลับเป็นปกติเมื่อยาขยายม่านตาหมดฤทธิ์ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง
รักษาอย่างไร
          
ภาวะวุ้นตาเสื่อมไม่จำเป็นต้องทำการรักษา ผู้ป่วยจะยังคงมองเห็นจุดดำลอยไปมาแต่ไม่ทำให้เกิดอันตรายใดๆ ส่วนแสงแฟลชจะค่อยๆลดลงและหายไปในที่สุด ในช่วงที่มีอาการควรงดการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดการกระเทือน ผู้ป่วยสามารถใช้สายตาและทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
ในรายที่ตรวจพบรอยฉีกขาดที่จอตาแพทย์จะทำการรักษาด้วยแสงเลเซอร์เพื่อปิดรอยฉีกขาดนั้น  แต่ถ้าไม่มีรอยฉีกขาดที่จอตาแพทย์จะนัดตรวจตามความเหมาะสมขึ้นกับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะจอตาฉีกขาดในผู้ป่วยแต่ละราย  แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงของอาการเช่น  ปริมาณของจุดดำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเห็นแสงแฟลชถี่ขึ้น  ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดถึงแม้จะยังไม่ถึงวันนัดก็ตาม เนื่องจากอาจเกิดรอยฉีกขาดที่จอตาซึ่งต้องรับการรักษาด้วยแสงเลเซอร์โดยเร็ว

บทความที่เกี่ยวข้อง
http://www.isoptik.com/isoptik/datas/eyecare1/8-7_1.php